Search

"แมลงสาบทะเล" สัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดยักษ์ ที่เพิ่งถูกค้นพบในทะเลอินโดนีเซีย - บีบีซีไทย

sisofsains.blogspot.com

บาทีโนมัสขนาดใหญ่
คำบรรยายภาพ,

บาทีโนมัส รักซาซา (Bathynomus raksasa) เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดยักษ์ 8 สายพันธุ์ ที่ถูกค้นพบแล้วในโลก

นักวิทยาศาสตร์ในอินโดนีเซีย ประกาศว่า พบสัตว์น้ำเปลือกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า แมลงสาบทะเลยักษ์

สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่นี้จัดอยู่ในตระกูลบาทีโนมัส (Bathynomus) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดใหญ่ มีลำตัวแบนและแข็งคล้ายกับแมงคาเรือง (woodlice) อาศัยอยู่ในน้ำลึก

บาทีโนมัส รักซาซา (ซึ่งแปลว่า "ยักษ์" ในภาษาอินโดนีเซีย) ถูกพบที่ช่องแคบซุนดาที่อยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา บริเวณใกล้เคียง คือ มหาสมุทรอินเดีย ที่ระดับน้ำทะเลลึก 957-1,259 เมตร

เมื่อโตเต็มวัย มันมีขนาดเฉลี่ย 33 เซนติเมตร และถือว่า มีขนาด "มหึมา" สัตว์จำพวกบาทีโนมัสสายพันธุ์อื่น ๆ อาจมีขนาดตั้งแต่หัวถึงหางยาว 50 เซนติเมตร

คำบรรยายภาพ,

บาทีโนมัส รักซาซา (Bathynomus raksasa) มีขนาดจากหัวถึงหางยาวเฉลี่ย 33 เซนติเมตร

คอนนี มาร์กาเรทา ซิดาบาล็อก นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย (Indonesian Institute of Sciences--LIPI) กล่าวว่า "ขนาดของมันใหญ่มากจริงๆ และมันมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในสัตว์จำพวกบาทีโนมัส"

ก่อนหน้านี้ มีสัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดมหึมาที่ถูกค้นพบแล้วเพียง 7 สายพันธุ์ในโลก

คณะนักวิจัยได้รายงานในวารสาร ซูคีย์ส (ZooKeys) ว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่พบสัตว์จำพวกบาทีโนมัสในทะเลลึกของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีการศึกษา

จาโย ราห์มาดี รักษาการหัวหน้าฝ่ายสัตววิทยาของ LIPI กล่าวว่า การค้นพบนี้เป็นการบ่งชี้ถึง "ความหลากหลายทางชีวภาพของอินโดนีเซียที่ยังรอการค้นพบ"

ขนาดยักษ์

คำบรรยายภาพ,

สัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดมหึมา อาจโตได้ถึงขนาด 50 เซนติเมตร

จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum--NHM) ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ มีหลายทฤษฎีในการอธิบายถึงสาเหตุที่สัตว์น้ำเปลือกแข็งในทะเลลึกมีขนาดใหญ่

ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกขนาดนั้น จำเป็นต้องสะสมออกซิเจนมากกว่า ดังนั้นจึงมีร่างกายที่ใหญ่กว่า มีขาที่ยาวกว่า

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ไม่มีสัตว์นักล่ามากนักที่ทะเลลึก ดังนั้นพวกมันจึงเติบโตจนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้โดยไม่เป็นอันตราย

นอกจากนี้ สัตว์จำพวกบาทีโนมัส ยังมีเนื้อน้อยกว่าสัตว์น้ำเปลือกแข็งชนิดอื่น อย่างเช่น ปู ทำให้พวกมันไม่เป็นที่ดึงดูดของสัตว์นักล่า

บาทีโนมัส ยังมีหนวดที่ยาวและตาที่ใหญ่ ลักษณะทั้งสองอย่างนี้ช่วยให้มันเดินทางในความมืดบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันได้ดี

แม้จะมีรูปร่างแปลกประหลาดแต่พวกมันไม่ได้มีพิษมีภัย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ เร่ร่อนอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร หาเศษซากสัตว์กินเป็นอาหาร

จากข้อมูลของ NHM การเผาผลาญของพวกมันต่ำอย่างเหลือเชื่อ สัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดยักษ์ตัวหนึ่งที่ถูกเลี้ยงไว้ในญี่ปุ่น มีรายงานว่า มีชีวิตอยู่รอดได้นาน 5 ปี โดยไม่ได้กินอาหารเลย

คำบรรยายภาพ,

บาทีโนมัส เป็นสัตว์กินซากสัตว์ โดยมันจะหาซากสัตว์ที่จมลงมาใต้ทะเลกินเป็นอาหาร

การวิจัยนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง LIPI, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ หลี่ กง เจียน (Lee Kong Chian Natural History Museum) ของสิงคโปร์

ในช่วงการสำรวจเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ในปี 2018 คณะนักวิจัยได้ค้นพบและเก็บสิ่งมีชีวิตหลายพันชนิดมาจากจุดต่าง ๆ 63 แห่ง และได้พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่กว่า 10 สายพันธุ์

คณะทำงานบอกว่า ตัวอย่างของบาทีโนมัส ตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัว มีขนาดวัดได้ 36.3 เซนติเมตร และ 29.8 เซนติเมตร ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างบาทีโนมัสที่ยังไม่โตเต็มวัย 4 ตัวอย่าง มาจากบริเวณช่องแคบซุนและทางใต้ของเกาะชวาด้วย แต่ ซิดาบาล็อก บอกว่า ไม่สามารถระบุสายพันธุ์พวกมันได้ เพราะลักษณะบางอย่างยังไม่พัฒนา




July 23, 2020 at 08:44AM
https://ift.tt/2ZUdkwd

"แมลงสาบทะเล" สัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดยักษ์ ที่เพิ่งถูกค้นพบในทะเลอินโดนีเซีย - บีบีซีไทย

https://ift.tt/2wcicAM


Bagikan Berita Ini

0 Response to ""แมลงสาบทะเล" สัตว์น้ำเปลือกแข็งขนาดยักษ์ ที่เพิ่งถูกค้นพบในทะเลอินโดนีเซีย - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.