Search

วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : โบรมิเลน : เอนไซม์ย่อยโปรตีนจากสับปะรด - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

sisofsains.blogspot.com

วันอาทิตย์ ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.

สับปะรด (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Ananas comosus) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี และจัดว่าเป็นพืชทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อบริโภคผลสด และนำเข้าสู่อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง แหล่งปลูกที่สำคัญๆ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี อุตรดิตถ์ ลำปาง และพิษณุโลก เป็นต้น สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย (สับปะรดศรีราชา ผลใหญ่ เนื้อฉ่ำ สีเหลืองอ่อน) พันธุ์อินทรชิต (หรือพันธุ์พื้นเมือง) พันธุ์ภูเก็ต (ผลเล็กเปลือกหนา เนื้อสีเหลือง หวานกรอบ) พันธุ์นางแล (พันธุ์น้ำผึ้ง เนื้อจะเข้มเหลือง รสออกหวานจัด) เป็นต้น

สับปะรด นอกจากนำมารับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารคาว หวาน และยังรับประทานเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้อีกด้วย เนื่องจากมีเอนไซม์ที่สำคัญ ที่ชื่อว่า “โบรมีเลน” เอนไซม์โบรมิเลนเป็นเอนไซม์ตามธรรมชาติจากพืชที่พบได้จากทุกส่วนของสับปะรด ทั้งลำต้น ผล แต่พบมากในแกนกลาง เปลือก และใบของสับปะรด ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สามารถเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายโปรตีนได้ เช่น เนื้อวัว หมู ไก่ เป็นต้น ปัจจุบันความต้องการของเอนไซม์โบรมิเลนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นเอนไซม์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ทำให้เนื้อนุ่ม ช่วยในการเร่งกระบวนการหมักน้ำปลาไส้ตัน ใช้ในการผลิตเบียร์ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดความขุ่นของเบียร์ในขณะเก็บรักษา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ใช้เป็นส่วนประกอบในครีมทาผิวที่ช่วยในการขจัดเซลล์ หนังกำพร้า ลดปัญหาริ้วรอย สิว และผิวแห้ง และยังช่วยลดรอยฟกช้ำและความบวมของผิวหลังจากทำทรีทเม้นท์ได้

นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมยา มีการใช้เอนไซม์โบรมิเลนในตัวยาช่วยย่อยอาหาร และยังใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นใช้ในการย่อยสลายเส้นใย โปรตีนบางส่วนจากผ้าไหมและขนสัตว์เป็นต้น จากความต้องการที่จะนำประโยชน์ของเอนไซม์ โบรมิเลนมาใช้ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นักวิจัยต้องมองหาวิธีใหม่ๆ ในการสกัดและทำให้เอนไซม์บริสุทธิ์ โดยยังมีความสามารถในการทำงานคงเดิม เช่น การสกัดด้วยการปั่นร่วมกับการโฮโมจิไนส์ด้วยเครื่องโฮโมจิไนส์ แบบใช้ความถี่สูง การทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธี reverse micellar extraction และการตกตะกอนโบรมิเลนด้วยแอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 40-60 เปอร์เซ็นต์ จะได้ตะกอนเอนไซม์สูงสุด เป็นต้น ประเทศไทยเป็นประเทศ 5 อันดับแรกของโลกในการผลิตสับปะรด โดยเน้นการปลูกสับปะรดเพื่อแปรรูปเนื่องจากไม่สามารถเก็บความสดไว้ได้นาน และไม่สะดวกแก่การขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้เกิดของเสียจากการแปรรูป เช่น เปลือก แกน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนที่พบเอนไซม์โบรมิเลนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะส่วนลำต้น ทำให้การนำเอนไซม์โบรมิเลนจากสับปะรด มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงอุตสาหกรรมยา จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำของเสียที่เกิดจากการแปรรูปสับปะรดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เอกสารอ้างอิง Chaurasiya, R.S. and Hebbar, H.U., 2013. Extraction of bromelain from pineapple core and purification by RME and precipitation methods. Sep Purif Technol, 111, pp. 90-7. Ketnawa, S., Chaiwut, P. and Rawdkuen, S., 2010. Extraction of bromelain from pineapple peels. Food Sci Technol Int, 17, pp. 395-402. Soares, P.A., Vaz, A.F., Correia, M.T., Pessoa, A. and Carneiro-da-Cunha, M.G., 2012. Purification of bromelain from pineapple wastes by ethanol precipitation. Sep Purif Technol, 98, pp. 389-95.

กรองกาญจน์ กิ่งแก้ว

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)




August 02, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/33fS3Pp

วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : โบรมิเลน : เอนไซม์ย่อยโปรตีนจากสับปะรด - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2wcicAM


Bagikan Berita Ini

0 Response to "วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : โบรมิเลน : เอนไซม์ย่อยโปรตีนจากสับปะรด - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.